เข้าใจโรคหัวใจ รู้ก่อน รักษาทัน ป้องกันได้หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญมากของร่างกาย เพราะหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะทุก ๆ ส่วนของร่างกาย จึงทำให้หัวใจเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา หัวใจเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีส่วนประกอบย่อย ๆ หลาย ๆ ส่วน เช่น ลิ้นหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ รวมไปถึงระบบไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งการที่หัวใจจะทำงานได้อย่างปกติได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ทำงานหรือต้องอยู่ในภาวะปกติด้วย
“โรคหัวใจ” เป็นคำที่ครอบคลุมถึงภาวะความผิดปกติต่าง ๆ ของหัวใจ และเมื่อหัวใจทำงานได้ไม่ดี ก็จะทำให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ เนื้อเยื่อ และเซลล์ของร่างกายไม่เพียงพอ ส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายตามมา เมื่อพูดถึงโรคหัวใจคนส่วนใหญ่มักนึกถึงโรคหลอดเลือดหัวใจมาเป็นอันดับแรกเพราะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ อีกทั้งอัตราการเสียชีวิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่จริง ๆ แล้วนอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจโรคหัวใจยังแบ่งออกเป็นอีกหลายโรค แต่ละโรคมีอาการแสดงและสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจ เช่น ในคนอายุน้อยมักพบโรคหัวใจชนิดพิการแต่กำเนิด กลุ่มผู้สูงอายุมักพบโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคของลิ้นหัวใจ หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งสามารถพบได้ในทุกช่วงวัยแม้ในผู้ที่เป็นนักกีฬาหรือผู้ที่ร่างกายแข็งแรง
โดยความอันตรายของโรคหัวใจแต่ละโรคขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรง และอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ บทความนี้จะพามาทำความรู้จักโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ ว่ามีสาเหตุ อาการ และปัจจัยเสี่ยงที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพื่อการป้องกันความเสี่ยงรวมทั้งดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง
โรคหัวใจคืออะไร?
โรคหัวใจ (heart disease) หมายถึง โรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ การนำไฟฟ้าของหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายโรค ซึ่งแต่ละโรคมีสาเหตุและอาการแสดงที่แตกต่างกันออกไป
สัญญาณเตือนโรคหัวใจมีอะไรบ้าง?
แม้ว่าโรคหัวใจจะมีหลายโรค แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจมักมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือน ซึ่งหากสงสัย หรือพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
เจ็บหน้าอก (Angina): เป็นอาการที่พบมากที่สุด ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแน่นหรือรู้สึกว่ามีของมากดทับบริเวณกลางหน้าอกหรือด้านซ้ายของหน้าอก และอาจมีปวดร้าวไปที่แขน คอ หลัง หรือกราม
หายใจไม่ออก (Shortness of Breath): รู้สึกหายใจไม่เต็มที่ หายใจลำบาก อาการนี้อาจเกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรมหรือในขณะที่ นั่ง หรือนอนพักก็ได้
ใจสั่น (Palpitations): รู้สึกใจเต้นเร็ว ใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หรือใจเต้นแรงผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อ่อนเพลีย (Fatigue): รู้สึกเหนื่อยล้าโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
เหงื่อออกมากผิดปกติ (Excessive Sweating): เหงื่อออกมากแม้ไม่ได้ออกกำลังกายหรืออยู่ในสภาพอากาศร้อน อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นพร้อมกับอาการเจ็บหน้าอก
คลื่นไส้หรืออาเจียน (Nausea or Vomiting): อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก
เวียนศีรษะหรือหน้ามืด (Dizziness or Lightheadedness): รู้สึกเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือรู้สึกเหมือนจะกำลังหมดสติ
ขาหรือข้อเท้าบวม (Swelling in Legs, Ankles, or Feet): การบวมที่ขาหรือข้อเท้าอาจเกิดจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดภาวะน้ำเกินในร่างกาย
ปวดในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (Pain in Different Parts of the Body): อาจรู้สึกปวดหรือไม่สบายในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แขนซ้าย หลัง คอ หรือกราม อาการเหล่านี้มักเกิดร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก
โรคหัวใจมีอะไรบ้าง?
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery disease) เป็นโรคที่มีการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตายตามมา ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจแย่ลง จนอาจทำให้หัวใจไม่สามารถบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบยังสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็นอีก 2 ประเภทคือ
1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเฉียบพลัน (acute coronary syndrome)
2. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเรื้อรัง (chronic coronary syndrome)
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmias) เป็นโรคที่มีไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติจากสาเหตุต่าง ๆ ทำให้หัวใจมีจังหวะการเต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นเร็วเกินปกติ เต้นช้ากว่าปกติ หรืออาจมีเต้นผิดจังหวะบางช่วง ซึ่งการเต้นแบบผิดปกติของหัวใจเหล่านี้ บางชนิดอาจมีอันตรายจนอาจเสียชีวิตได้ เช่น โรคไหลตาย (Brugada syndrome) หรือการเต้นผิดจังหวะรุนแรงจากไฟฟ้าหัวใจของหัวใจห้องล่าง (ventricular tachycardia, ventricular fibrillation) บางชนิดไม่ทำให้เสียชีวิตแต่อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้ เป็นต้น
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart diseases) เป็นโรคที่มีโครงสร้างของหัวใจผิดปกติ เป็นโรคที่เป็นตั้งแต่เกิด มักพบตั้งแต่เด็ก บางโรคอาจหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่บางโรคไม่สามารถหายได้เองจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการใส่อุปกรณ์เข้าไปในห้องหัวใจเพื่อปรับเปลี่ยนให้โครงสร้างของหัวใจกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับว่าโครงสร้างของหัวใจนั้นมีความผิดปกติมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและมีผลการรักษาที่ดีที่สุด
โรคลิ้นหัวใจ (valvular heart diseases) เป็นโรคที่ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติไป ซึ่งอาจเกิดจากมีการติดเชื้อ หรือความเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น ลิ้นหัวใจมีรูปร่างผิดปกติ หรือมีโรคหัวใจโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของลิ้นหัวใจ จนทำให้มีภาวะลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งอาจเกิดกับลิ้นหัวใจเพียงลิ้นเดียวหรือหลายลิ้นก็ได้
โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiomyopathies) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติที่ตัวกล้ามเนื้อหัวใจเองโดยตรง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน การอักเสบ การติดเชื้อ หรือสาเหตุอื่น ๆ ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติไป
ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย (heart failure) เป็นภาวะที่การทำงานของหัวใจแย่ลงมาก ๆ อาจเกิดจากโรคหัวใจอื่น ๆ ทำให้หัวใจเสียการทำงาน จนไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ (pericardial diseases) เยื่อหุ้มหัวใจเป็นส่วนประกอบที่ห่อหุ้มอยู่ด้านนอกทำหน้าที่ช่วยปกป้องหัวใจ แต่หากมีโรคที่ทำให้ส่วนของเยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติ เช่น มีการอักเสบและหนาตัวขึ้นของเยื่อหุ้มหัวใจ หรือมีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ก็จะทำให้มีผลต่อการทำงานของหัวใจได้ด้วยเช่นกัน
อาการของโรคหัวใจแต่ละโรค
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ : อาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะมีอาการแน่นหน้าอก บางคนมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับเจ็บร้าวไปกราม ลำคอ ปวดชาบริเวณแขนหรือขา รู้สึกไม่สบายเหมือนมีอะไรมากดทับบริเวณอก อ่อนเพลีย หายใจถี่ เหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หมดสติได้ และอาจเสียชีวิตได้
อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ : รู้สึกหัวใจเต้นช้ากว่าปกติหรือเต้นเร็วและแรง ใจสั่น รู้สึกไม่สบายตัวหรือแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจถี่ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมหมดสติ
อาการของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด : เป็นความบกพร่องของหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มักแสดงอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เป็นทารก เช่น หายใจถี่ เหนื่อยง่ายขณะให้กินนม น้ำหนักตัวน้อย หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นช้า ในรายที่มีความผิดปกติรุนแรงอาจมีผิวหนังหรือริมฝีปากซีดหรือเขียว เหนื่อยง่ายระหว่างออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม มีอาการบวมตามมือ ข้อเท้า
อาการของโรคลิ้นหัวใจ : โรคลิ้นหัวใจเกิดจากการตีบหรือรั่วของลิ้นหัวใจ หากเป็นในระดับที่รุนแรงจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจถี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ขาบวม เท้าบวม มีอาการน้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้ เป็นลมหมดสติ ซึ่งหากรุนแรงมากอาจทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้
อาการของโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ : ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการแสดงชัดเจน แต่จะเริ่มแสดงอาการชัดเจนขึ้นเมื่อระยะของโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรง ในรายที่อาการรุนแรงมักพบอาการ หายใจถี่ จะรู้สึกหายใจไม่อิ่มในเวลากลางคืน ต้องสะดุ้งตื่นหรือลุกขึ้นมาเพื่อนั่งหายใจในเวลากลางคืนเหนื่อยง่ายเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม บวมบริเวณขา และข้อเท้า
อาการของภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย : อาการของภาวะหัวใจล้มเหลวมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน อาการที่พบได้ ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หายใจไม่ออกในเวลากลางคืน ต้องสะดุ้งตื่นหรือลุกขึ้นมาเพื่อนั่งหายใจในเวลากลางคืน เหนื่อยง่าย บวมตามขา ข้อเท้า หน้าท้อง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ไอแห้ง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง
อาการของโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ : มักมีอาการเจ็บหน้าอก และจะมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก อ่อนเพลีย บวมบริเวณร่างกายส่วนล่าง บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
โรคหัวใจเกิดจากอะไร?
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
สาเหตุที่พบบ่อยของโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการสะสมของคราบไขมันและเซลล์อักเสบต่าง ๆ ที่ผนังของหลอดเลือดแดงที่ส่งไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงหรือตีบตัน ขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ เกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ ความดันสูง ประวัติพันธุกรรม โรคลิ้นหัวใจ ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ภาวะหัวใจวาย การใช้ยาบางชนิด โรคของต่อมไทรอยด์ รวมไปถึงโรคนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
เป็นโรคที่มีการพัฒนาโครงสร้างหัวใจผิดปกติหรือไม่สมบูรณ์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์อาจเกิดจากมีโครโมโซมหรือพันธุกรรมที่ผิดปกติ การดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ รวมไปถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิดของมารดาขณะตั้งครรภ์ด้วย
สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจ
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ โรคไข้รูมาติก โรคทางพันธุกรรม โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ส่งผลต่อลิ้นหัวใจ อายุที่มากขึ้น ความผิดปกติของลิ้นหัวใจตั้งแต่เกิด เป็นต้น
สาเหตุของโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากโรคหรือการติดเชื้อบางอย่าง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การตั้งครรภ์ การให้ยาเคมีบำบัด การใช้สารเสพติด และสาเหตุทางพันธุกรรม
สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย
มักมีสาเหตุจากโรคของระบบอื่น ๆ หรือโรคหัวใจอื่น ๆ ที่รุนแรงจนทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา เช่น การบาดเจ็บหรือติดเชื้อภายในหัวใจ ความดันสูง โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจรวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ
สาเหตุของโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ
สามารถเกิดได้จากการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจหลังการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ โรคมะเร็งบางชนิด การอุดตันของของเหลวภายในเยื่อหุ้มหัวใจหรือเกิดการคั่งของเลือดในเยื่อหุ้มหัวใจ อย่างไรก็ตามในบางกรณีก็ไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้แน่ชัด
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ แบ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้
พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย
การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งจะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น โรคอ้วน ความดันสูง คอเลสเตอรอลสูง และเบาหวาน ซึ่งโรคเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ
การออกกำลังกายไม่เพียงพอ
การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพราะจะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น และทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้นซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ
การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่จะไปทำลายหลอดเลือดให้เสียหายทำให้เป็นโรคหัวใจตามมาได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้
อายุที่เพิ่มขึ้น
เพศ
พันธุกรรมและประวัติครอบครัว
เชื้อชาติ
ใครบ้างเสี่ยงโรคหัวใจ
ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ : หากมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
ผู้สูงอายุ : อายุที่มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โดยเฉพาะผู้ชายที่มีอายุเกิน 45 ปี และผู้หญิงที่มีอายุเกิน 55 ปี
ผู้ชาย : ผู้ชายมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงในการเกิดโรคหัวใจในช่วงวัยกลางคน
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง : ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และทำให้มีภาวะหัวใจโตได้
ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง : คอเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) สามารถนำไปสู่การสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหัวใจ
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน : ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงสามารถทำลายหลอดเลือด
ผู้ที่สูบบุหรี่ : การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอย่างมาก เพราะสารพิษในบุหรี่ทำลายหลอดเลือด
ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน : น้ำหนักเกินเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เนื่องจากเพิ่มความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล
ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย : การขาดการออกกำลังกายทำให้สุขภาพหัวใจแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ
ผู้ที่มีความเครียดสูง : ความเครียดที่สะสมสามารถทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ
ผู้ที่รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ : การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เกลือ และน้ำตาลสูงเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ
ภาวะเทรกซ้อนของโรคหัวใจจะมีความแตกต่างกันออกไปตามชนิดของกลุ่มโรค โดยภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบบ่อย ได้แก่
ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดของโรคหัวใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อหัวใจเสียการทำงานจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) เกิดจากมีการอุดตันกะทันหันของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อขาดเลือดและตายได้
โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) โดยโรคหัวใจเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ทำให้เนื้อเยื่อสมองขาดเลือด เกิดเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตตามมาได้
โรคหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เป็นการโป่งพองของหลอดเลือดแดง ซึ่งสามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย และหากหลอดเลือดแดงนั้นโป่งพองมาก ๆ อาจทำให้หลอดเลือดแตก ทำให้เลือดออกภายในและเสียชีวิตได้
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (peripheral arterial disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสียหายของหลอดเลือดส่วนปลายที่นำเลือดไปเลี้ยงแขนขาและอวัยวะส่วนปลาย จนทำให้อวัยวะเหล่านั้นขาดเลือด ซึ่งโรคนี้นับเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของโรคหัวใจเพราะมีปัจจัยเสี่ยงเหมือนกับโรคหลอดเลือดหัวใจ
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (sudden cardiac arrest) คือการสูญเสียการทำงานของหัวใจอย่างกะทันหัน เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจนหัวใจไม่บีบตัว จึงไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมองและร่างกาย ทำให้หมดสติ ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตทันที
การวินิจฉัยโรคหัวใจ
การวินิจฉัยโรคหัวใจสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกายการสอบถามประวัติครอบครัว และอาการแสดงอื่น ๆ อย่างละเอียด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาการวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์มักจะส่งตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำมากขึ้น เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์ทรวงอก และการตรวจพิเศษทางหัวใจด้วยเครื่องมืออื่น ๆ ตามความเห็นของแพทย์ เช่น
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography; ECG)
การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram; Echo) หรือการอัลตราซาวนด์หัวใจ
การเดินสายพานตรวจสมรรถภาพหัวใจ (exercise stress test; EST)
การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiography; CAG)
การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (coronary CT angiography; CT scan)
การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (cardiac magnetic resonance imaging; CMR)
การติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ 24 หรือ 48 ชั่่วโมง (holter monitoring)
การรักษาโรคหัวใจ
การรักษาโรคหัวใจสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของโรคหัวใจแต่ละโรคซึ่งแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจจะทำการพิจารณาและประเมินการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้การรักษามากกว่า 1 วิธี ทั้งนี้แพทย์ต้องพิจารณาการรักษาเป็นราย ๆ ไป ซึ่งการรักษาโรคหัวใจประกอบด้วย
การรักษาด้วยยา โดยพิจารณาจากโรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็น ผู้ป่วยโรคหัวใจควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และไม่ควรหยุดรับประทานยาหรือปรับขนาดของยาที่กินด้วยตัวเอง เพราะจะมีผลต่อการรักษา และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาภายหลังได้
การรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการ เช่น การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด (PCI) การจี้หัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด (EP study) การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร (permanent pacemaker) การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (implantable cardioverter defibrillator; ICD) การผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม และการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery bypass grafting; CABG) เป็นต้น
การรักษาด้วยกายภาพและเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคหัวใจโดยการดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายให้หัวใจกลับมาทำงานได้ดีขึ้น
การป้องกันโรคหัวใจ
การป้องกันโรคหัวใจสามารถทำได้โดย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น
ทำอารมณ์ให้แจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียด
เลือกรับประทานอาหารที่มีเกลือและไขมันอิ่มตัวต่ำ
ควบคุมความดันเลือด
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันให้อยู่ในค่าปกติ
งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้งอย่างสม่ำเสมอ
ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้ง
พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
รักษาสุขอนามัยป้องกันการติดเชื้อ
รักษาสุขภาพช่องปาก
สรุป
โรคหัวใจถือเป็นโรคใกล้ตัว สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และปัจจุบันมีแนวโน้มการเกิดโรคหัวใจในคนที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ เป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายของคนไทยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง เพราะการใช้ชีวิตในปัจจุบันทำให้เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น
ดังนั้นการดูแลตัวเอง การสังเกตอาการผิดปกติที่เข้าข่ายอาการของโรคหัวใจ การตรวจคัดกรองโรคหัวใจเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันและช่วยให้ตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งส่งผลให้การรักษาง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากเป็นโรคหัวใจแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ มารับการตรวจติดตามตามนัด รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และหากต้องรับประทานยาที่มีผลต่อหัวใจควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย รวมทั้งดูแลสุขภาพ ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ